การพัฒนารูปแบบการสอนที่เน้นบูรณาการภูมิปัญญาท้องถิ่นกับการจัดการเรียนรู้ทัศนศิลป์ ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น
Abstract
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สำคัญของไทยที่เหมาะสมในการนำมาใช้ในการจัดการเรียนรู้ 2) เพื่อพัฒนารูปแบบการสอนที่เน้นบูรณาการ และ 3) ศึกษาผลการใช้รูปแบบการสอนไปใช้ในการจัดการเรียนรู้ทัศนศิลป์ ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น การวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้นที่ได้จากแบบสอบถามเชิงสำรวจ โดยใช้ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย (average) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) ได้ข้อมูล ภูมิปัญญาท้องถิ่นและการจัดการสอนจากกลุ่มตัวอย่างครูทัศนศิลป์ จำนวน 121 คน ในโรงเรียนสังกัด สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ทั่วประเทศ นำมาพัฒนาตามรูปแบบการสอนของกาเย่ (Robert Gagne’) ด้านการนำเสนอเนื้อหาใหม่ บูรณาการเป็นชุดการสอนภูมิปัญญาท้องถิ่น นำมาทดลองเครื่องมือกับกลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-2 และ 3 ภาคปลาย ปีการศึกษา 2558 จำนวน 382 คน จาก 6 โรงเรียน วิเคราะห์ข้อมูลหลังการใช้ชุดการสอน จากแบบสอบถามและแบบทดสอบ รวมถึงวิเคราะห์ข้อมูลผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ก่อนเรียนและหลังเรียน โดยใช้ paired sample t-test และวิเคราะห์ข้อมูลผลการประเมินความพึงพอใจโดยใช้ค่าเฉลี่ย (average) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) ผลการวิจัยพบว่า ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สำคัญของไทยด้านทัศนศิลป์ ที่เหมาะสมในการนำมาใช้ในการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอนทั้ง 6 ภาค โดยภาคเหนือ ได้แก่ ร่มกระดาษสา ภาคกลาง ได้แก่ ตุ๊กตาชาววัง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ ผ้าไหมมัดหมี่ ภาคตะวันออก ได้แก่ ครกหิน ภาคตะวันตก ได้แก่ เครื่องประดับจากนิล ภาคใต้ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์จากผ้าบาติก และกรุงเทพฯ ได้แก่ หุ่นกระบอกไทย จากนั้นนำไปสร้างชุดการสอนและนำไปจัดการเรียนการสอนพบว่า ครูส่วนใหญ่เห็นด้วยอยู่ในระดับมาก โดยหัวข้อการให้นักเรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับภูมิปัญญาท้องถิ่น มีส่วนช่วยในการสืบทอดทางวัฒนธรรม อยู่ในระดับมากที่สุด ส่วนความคิดเห็นของนักเรียนด้านการรับรู้ด้านคุณค่าและสุนทรียะเกี่ยวกับภูมิปัญญาท้องถิ่นพบว่า ก่อนเรียนและหลังเรียนมีการรับรู้อยู่ในระดับมากเช่นเดียวกัน โดยหัวข้อภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทยเป็นเรื่องที่คนไทยควรภาคภูมิใจ ก่อนเรียนและหลังเรียนอยู่ในระดับมากที่สุด ส่วนการเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์จากการทำแบบทดสอบก่อนและหลังเรียนหลังใช้ชุดการสอน พบว่ามีคะแนนหลังสอบเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ส่วนความคิดเห็นของครูผู้ใช้ชุดการสอนพบว่า มีความพึงพอใจต่อชุดการสอนอยู่ในระดับมากที่สุดDownloads
Published
2022-12-16
Issue
Section
Articles