พระธาตุอีสาน

Authors

  • สุวิทย์ จิระมณี

Keywords:

พระธาตุ, ปูชนียสถาน

Abstract

พระธาตุอีสานเป็นสถาปัตยกรรมประเภทสถูปเจดีย์สำหรับประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุกลุ่มวัฒนธรรมไทย-ลาว ตามตำนานเรื่องพระเจ้าเลียบโลกที่กล่าวถึงพระพุทธองค์ เสด็จประทับรอยพระพุทธบาทตามสถานที่ต่างๆ อันเป็นที่ตั้งพระธาตุสำคัญในภูมิภาคนี้ได้แก่ หนองคันแทเสื้อน้ำ ที่ตั้งพระธาตุหลวง นครเวียงจันทน์ พระธาตุอิงฮังในสุวรรณเขตพระธาตุภูศรีที่หลวงพระบางและพระธาตุสำคัญในภาคอีสานได้แก่พระธาตุพนม พระธาตุบังพวน พระธาตุเชิงชุม พระธาตุพระบาทบัวบก ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าในยุคอาณาจักรล้านช้างแห่งหลวงพระบางและนครเวียงจันทน์รวมทั้งบริเวณภาคอีสาน มีการสร้างพระธาตุตามคติพุทธศาสนานิกายลังกาวงศ์อย่างแพร่หลาย ต่อมาภายหลังมีการสร้างและปฏิสังขรณ์ต่อเติม รวมทั้งสร้างครอบหรือกวมพระธาตุองค์เดิมในลักษณะที่ปรากฎทั่วไป ลักษณะรูปแบบเกิดจากรูปทรงดอกบัวเหลี่ยม มีทั้งชนิดสี่เหลี่ยม หกเหลี่ยมและแปดเหลี่ยม ตั้งอยู่บนชุดของฐานบัวประกอบด้วยชุดบัวคว่ำบัวหงายซ้อนชั้น เอวของฐานคอดกิ่ว มีลูกแก้วอกไก่คั่นกลาง เรียกตามภาษาถิ่นว่าแอวขันสวนยอดเป็นรูปดอกบัวเรียงซ้อน 2 - 3 ขั้นสูดวงปลีหรือปลียอดบนสุดเป็นเสตตสัต หรือฉัตร นอกจากดังกล่าวแล้วยัง พบว่าพระธาตุบางกลุ่มทำเรือนธาตุทรงปราสาทมีซุ้มจรนัม 4 ทิศคล้ายเจดีย์ภาคเหนือ ส่วนยอดยังคงใช้รูปทรงดอกบัว ซ้อนชั้นสู่ปลียอด ในการศึกษาจึงได้แบ่งกลุ่มรูปแบบได้ 4 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มรูปแบบพระธาตุพนม แม้จะมีการบูรณะหลายครั้งแต่ได้รับความนิยม มีการสร้างถ่ายแบบกันต่อมาถึงปัจจุบัน 2. กลุ่มพระธาตุศรีสองรัก เป็นพระธาตุ รูปทรงแบบดั้งเดิม เรือนธาตุรูปทรงดอกบัวเหลี่ยมบนฐานบัว (เอวขัน) 3. กลุ่มรูปแบบพระธาตุทรงปราสาทย่อมุมไม้ ได้แก่ พระธาตุบังพวนซึ่งอาจจะได้รับอิทธิพลจากเจดีย์ล้านนา ต่างกับกลุ่มอื่นที่เรือนธาตุทำทรงปราสาทมีซุ้มจรนัม 4 ทิศประดิษฐานพระพุธรูปประทับยืน 4. กลุ่มรูปแบบพระธาตุก่องน้อย เป็นรูปแบบที่เกิด ขึ้นในระยะหลังมีการนำรูปทรงปราสาทตั้งบนฐานบัว ซุ้ม จรนัม 4 ทิศ ส่วนยอดเป็นรูปทรงดอกบัวเหลี่ยม พระธาตุกลุ่มนี้มีการย่อมุมไม้ 12 ทั้งองค์ รูปทรงสูงชลูดขึ้น พระธาตุเป็นสถาปัตยกรรมประเภทสถูปเจดีย์ เพื่อประดิษฐานพระธาตุหรือพระบรมสารีริกธาตุของกลุ่มชน สายวัฒนธรรมไทย - ลาว อันเป็นวัฒนธรรมเกิดใหม่แทนวัฒนธรรมขอมหรือเขมรในภูมิภาคอีสาน สมัยสร้างปราสาทหินพุทธศตวรรษที่ 15 - 18 คติการสร้างพระธาตุ สืบเนื่องมาจากความเชื่อในตำนานพุทธศาสนา โดยมีศูนย์กลางอยู่แถบลำน้ำโขงตอนกลาง และแพร่กระจายทั่วไปในภูมิภาคอีสานราวพุทธศตวรรษที่ 21- 23 ซึ่งเป็นระยะที่มีการอพยพเคลื่อนย้ายเข้ามาในภูมิภาค แห่งนี้ของกลุ่มคนจากนครเวียงจันทน์ ที่มาคำว่าพระธาตุของชาวอีสานได้สืบทอดมาจากอดีตดังคำในจารึกโบราณของวัดพระธาตุพนม ที่สร้างในปีพ.ศ. 2157 ปรากฎอยู่หลายคำ เช่น พระสารีริกธาตุ พระมหาธาตุเจ้า และมหาธาตุเจ้า โดยเน้นถึงความสำคัญสิ่งประดิษฐานอยู่ภายในเหมือนกับชาวล้านช้างและล้านนา ตามคติความเชื่อในการสร้างตำนานขึ้นเพื่อเป็นการฟื้นฟูพุทธศาสนโดยได้รับอิทธิพลแนวคิดจากตำนานลังกาเช่นเดียวกันคติเรื่องพระเจ้าเลียบโลก2 เป็นเรื่องราวของตำนานในอดีตยุคศรีโคตรบูรในยุคนั้น ได้เขียนตำนานเรื่องพระธาตุพนมกล่าวถึงพระพุทธองค์ได้เสด็จออกจากเชตวันมหาวิหารมายังดินแดนแถบนี้คราวหนึ่งก่อนเสด็จสู่ปรินิพาน ได้เสด็จมาทรงประทับและประทาน รอย พระพุทธบาท ตามสถานที่สำคัญอันเป็นที่ตั้งพระธาตุสำคัญในภูมิภาคนี้ได้แก่ ริมหนองคันแทเสื้อน้ำ อันเป็นที่ตั้งของพระธาตุหลวงในนครเวียงจันทน์ ที่โพนจิกเวียงงัวที่ตำบลพระโค ตำบลปะโค อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย จากนั้นไปโปรดประภารนาคที่ภูเขาหลวงอันเป็นองค์ที่ตั้ง พระธาตุบังพวนแล้วประทานรอยพระพุทธบาทที่ฝั่งซ้ายใกล้ที่ฉันเพลเรียกว่าพระบาทโพนฉัน จากนั้น ได้ไปประทานรอยพระพุทธบาท ที่แผ่นหินใหญ่ในแม่น้ำโขงโปรดพญาปากดำ ซึ่งเรียกว่า "พระบาทเวินปลา" จากนั้นพระพุทธองค์ได้มาพักที่ภูกำพร้าบริเวณพระธาตุพนม 1 ราตรี รุ่งเช้าเสด็จไปบิณฑบาต ที่เมืองศรีโคตรบูร มาพักที่ต้นรังต่อมาพญาสุมิตรธรรมวงศาได้สร้างพระเจดีย์เรียกว่า "พระธาตุอิงฮัง" อยู่ที่สุวรรณเขตฝั่งประเทศลาว จากนั้นได้เสด็จไปสู่เมืองหนองหานหลวง ประทานรอยพระพุทธบาทไว้ที่ภูน้ำลอดเชิงชุมได้แก่พระธาตุเชิงชุม แล้วเสด็จขึ้นภูเพ็ก รับสั่งให้นำพระอุรังคธาตุมาบรรจุที่ภูกำพร้าพระธาตุพนม เมื่อหลังปรินิพานแล้ว จากนั้นพระองค์ได้เสด็จประทานรอยพระพุทธบาทที่ไหล่ภูพาน ซึ่งเรียกว่า "พระบาทบัวบก" อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานีและประทานรอยพระพุทธบาทที่หนองบัวบานเรียกว่า "พระบาทหนองบัวบาน" อำภอบ้านผือ จากนั้นได้ประทานรอยพระพุทธบาทที่ภูเวียงเรียกว่า "พระบาทเวินตุ่ม" อยู่ริมฝั่งโขงเหนือตัวอำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย แล้วทรงประทานรอยพระพุทธบาท ที่ภูศรีกลางเมืองหลวงพระบาง จากนั้นพระองค์เสด็จกลับเซตวัน และเสด็จสู่ปรินิพพานที่เมืองกุสินารา ในอุรังคนิทานตำนานพระธาตุพนมได้กล่าวต่อไปอีกว่า ในวันถวายพระเพลิงนั้นพระมหากัสสปะได้พาบริวารมาบังคมและอธิษฐานพระอุรังคธาตุเมื่อถวายพระเพลิงแล้วได้แจกพระธาตุกันไป พระมหากัสสปะได้รวมพระเถระและบริวารประมาณ 500 จากนั้นได้เหาะมาทางอากาศ นำพระบรมธาตุมาที่ภูเพ็ก แล้วแจ้งข่าวให้หนองหานน้อย และหนองหานหลวง ให้ทราบจึงพากันแห่ไปรับที่ภูกำพร้าพร้อมด้วยพญาทั้ง 5 คือ พญาสุวรรณภิงคารเมืองหนองหานหลวง พญาคำแดงเมืองหนองหานน้อย พญานันทเสนเมืองศรีโคตรบูรพญาอินทรปัตนครเมือง กัมพูชา และพญาจุลนีพรหมทัตเมืองจุลนี ได้สร้าง พระเจดีย์บรรจุพระธาตุ แล้วพระอรหันต์กลับกรุงราชคฤห์ เพื่อทำสังคยานา ต่อมาในยุคเมืองศรีโคตรบูรย้ายมาฝั่งขวาใกล้พระธาตุพนมหรือที่เรียกว่า "เมืองมรุกขนคร" ตำนานพระพุทธศาสนากล่าวถึงศิษย์ของพระมหากัสสปะได้เกลี้ยกล่อมพระกุมารทั้ง 5 แห่งกรุงราชคฤห์ออกบวชจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ และได้มอบพระธาตุนำมาบรรจุไว้สถานที่สำคัญซึ่งท้าวจันทน์บุรีได้สร้างขึ้นและมีการสร้างเสริมในสมัยพระไชยเชษฐาธิราชในภายหลัง เช่น พระธาตุหัวเหน่า ได้แก่ พระธาตุพังพวนที่เมืองหนองคาย พระธาตุฝาพระบาทขวา ได้แก่ พระธาตุที่จมลงในแม่น้ำโขงหน้าวัดธาตุหนองคาย และพระธาตุบุ ที่ตำบลพระโค เมืองหนองคาย ต่อมาในยุคล้านช้างแห่งหลวงพระบาง และยุคศรีสัตนาคนหุตนครเวียงจันทน์ได้มีการสร้างวัด พระพุทธรูป และพระธาตุจำนวนมากในพุทธศาสนานิกายลัทธิลังกาวงศ์ และได้แพร่หลายทั่วอาณาจักรล้านช้าง มีการสร้างและปฏิสังขรณ์ต่อเติมรวมทั้งสร้างครอบหรือกวมจาก พระธาตุองค์เดิม เช่น พระธาตุหลวง พระธาตุพนม และพระธาตุเชิงชุม เป็นต้น

Downloads

Published

2024-02-02