ทัศนคติที่มีต่อผู้สูงอายุของนักเรียนที่ศึกษาอยู่ในโรงเรียนมัธยมศึกษาหลัก ในเขตพัฒนาพื้นที่ ชายฝั่งทะเลตะวันออก

Authors

  • สุจินดา ม่วงมี

Keywords:

นักเรียนมัธยมศึกษา – ทัศนคติ, ผู้สูงอายุ – มติมหาชน

Abstract

สภาพการดำเนินชีวิตของคนในสังคมไทยได้เปลี่ยนแปลงไปตามความเปลี่ยนแปลงของศาสตร์ และเทคโนโลยีด้านต่างๆ ซึ่งมีความเจริญรุดหน้าไปมาก ความก้าวหน้าของศาสตร์สาขาต่างๆ นำมาซึ่งการเปลี่ยน แปลงที่นำชีวิตของคนรุ่นใหม่ไปสู่ความที่ “มี” ในสิ่งที่ไม่เคยมี ความสะดวกสบายที่คนรุ่นเก่าคิดไม่ถึง หรือไม่ก็เป็นเพียงแค่ “ฝัน” ได้ ความจริงดังกล่าวสามารถสะท้อนให้เห็นได้ในหลายๆ เรื่องเช่น ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์ ทำให้สังคมของเราสามารถเอาชนะความทุกข์ยาก โรคภัยไข้เจ็บหรือโรคระบาดในสมัยก่อนซึ่งเป็นปัญหามากได้ ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแขนงต่างๆ รวมทั้งการบริการสาธารณสุขที่ดีขึ้น ทำให้อายุขัยเมื่อแรกเกิดของคนไทยสูงขึ้นจากเดิม 58 ปี สำหรับประชากรชาย และ 63.8 ปี สำหรับประชากรหญิงระหว่างปีสำรวจ พ.ศ.2517 - 2519 (สุชาติ ประสิทธิ์รัฐสินธุ์ 2535 : 4) เป็น 65.8 ปี และ 70.5 ปี ตามลำดับในระหว่างปี พ.ศ.2533 - 2538 (กองวางแผนพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2534) นั่นหมายความว่าในสังคมของเรามีประชากรที่มีอายุมาก (60 ปี) หรือคนแก่ หรือผู้สูงอายุ หรือผู้สูงวัยเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ การคาดประมาณประชากรของประเทศไทยภายใต้ข้อสมมติฐานภาวะเจริญพันธุ์ระดับกลางโดยคณะทำงานคาดประมาณจำนวนประชากรภายใต้คณะอนุกรรมการนโยบายและแผนประชากรก็แสดงให้เห็นว่า จำนวนประชากรผู้สูงอายุในประเทศไทยจะเพิ่มจำนวนขึ้นเป็นเท่าตัวภายในระยะเวลา 20-25 ปีข้างหน้า โดยคาดการณ์จากจำนวนประชากร ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 3,087,000 คน (ร้อยละ 5.8 ของประชากรทั้งหมด) เมื่อปี พ.ศ.2530 จะมีจำนวน 5,130,000 คน (ร้อยละ 7.8 ของประชากรทั้งหมด) ในปี พ.ศ. 2545 และในปี พ.ศ. 2555 จำนวนผู้สูงอายุจะมีเพิ่มขึ้นเป็น 7,104,000 คน (ร้อยละ 9.9 ของประชากรไทยทั้งหมด) และสิ่งที่ท้าทายคนรุ่น ใหม่ทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชนก็คือ ทำอย่างไรคนในสังคมไทย รวมถึงผู้สูงอายุจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างทั่วถึงท่ามกลางสิ่งที่มีมากขึ้น เร็วขึ้น และสะดวกสบายขึ้น

Downloads

Published

2024-04-03