โรคพิษปลาปักเป้า

Authors

  • สุรจิต สุนทรธรรม

Keywords:

ปลา – พิษ, ปลาปักเป้า, สัตว์มีพิษ

Abstract

ประเทศไทยมีปลาปักเป้าทั้งน้ำจืดและน้ำเค็มมากกว่า ๒๓ ชนิด จัดอยู่ในวงศ์ปลาปักเป้า (Family Tetrodontidae) และวงศ์ปลาปักเป้าหนามทุเรียน (Family Diodontidae) พบได้ทุกภาคทั่วประเทศ ในสภาพปรกติปลาปักเป้ามีรูปร่างอย่างปลาทั่วไป, มีขนาดปานกลางถึงขนาดใหญ่ (๑๐-๔๐ ซม.), ลำตัวกลมยาว, หัวโต, ปากเล็ก และอาจมีหนามตามตัว; แต่หากถูกรบกวนจะพองตัวเบ่งออก และมีหนามให้เห็นชัดเจน อันตรายจากการกินปลาปักเป้าเป็นที่รู้จักกันมานาน, มีผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากการกินปลาปักเป้าจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะครอบครัวชาวประมง, ทหารที่ออกฝึก และประชาชนตามริมฝั่งทะเล ในตัวปลาปักเป้า โดยเฉพาะที่หนัง, รังไข่ และเครื่องใน มีสารชีวพิษที่ทำให้ผู้บริโภคตายได้ คือ tetrodotoxin (TTXs) ซึ่งเป็นสารประกอบที่ละลายน้ำได้ดี และทนต่อความร้อน ดังนั้นการทำให้สุกจึงไม่สามารถลดความเป็นพิษได้ ในปัจจุบันเชื่อว่าแบคทีเรียบางชนิด เช่น Vibrio alginolyticus, Pseudomonas spp. ทั้งที่อาศัยอยู่ร่วมกับสัตว์ทะเลและที่อยู่เป็นอิสระ เป็นผู้สร้างสารพิษนี้ขึ้น และพบว่ามีสัตว์ทะเลเฉพาะบางชนิดเท่านั้น  สามารถสะสมสารพิษ TTXs ไว้ในตัวได้  ปลาปักเป้าชนิดที่มีรายงานว่ามีพิษซึ่งพบในน่านน้ำไทย ได้แก่ ปลาปักเป้า Tetrodon hispidus (Lac). ปลาปักเป้าดำ [Tetrodon stllatus (BI. & Schn.)], ปลาปักเป้าลาย [Sphoeroides scleratus (Gmelin)] เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีรายงานการตรวจพบสารพิษชนิดนี้ในสัตว์ทะเลที่ใช้เป็นอาหารอีกหลายชนิด เช่น หมึกสายบางชนิด, หอยกาบเดี่ยวบางชนิด และปลาชนิดอื่น ๆ ความรุนแรงของพิษ TTXs ขึ้นอยู่กับชนิดของสัตว์ทะเลแต่ละตัวและชนิดของเนื้อเยื่อ สารพิษดังกล่าวเนื้อออกฤทธิ์ที่เซลล์ประสาทโดยกันไม่ให้โซเดียมถูกดูดกลับเข้าไปในเซลล์ ทำให้ไม่สามารถสื่อนำกระแสประสาทได้, รวมทั้งออกฤทธิ์ยับยั้งการสื่อสัญญาณประสาท ณ จุดบรรจบประสาทกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้อเป็นอัมพาต จนถึงอาจทำให้ดูเสมือนสมองตายได้ ในผู้ป่วยที่ได้รับพิษมักเริ่มมีอาการเกิดขึ้นภายในไม่กี่นาทีหลังจากการกินปลาปักเป้า โดยเริ่มมีอาการปวดศรีษะ, เหงื่อแตก, ชาและรู้สึกผิดปรกติที่ริมฝีปาก ลิ้น ใบหน้า และปลายมือปลายเท้า, มีตุ่มพองในปาก, น้ำลายไหล, กลืนลำบาก, พูดไม่ชัด, หายใจขัด, ปวดท้อง, คลื่นไส้, อาเจียน, รู้สึกตัวลอย, กล้ามเนื้ออ่อนเปลี้ย ไม่มีแรง ไม่สามารถควบคุมให้เคลื่อนไหวตามประสงค์ได้, จนกระทั่งเป็นอัมพาตอย่างสมบูรณ์ ผู้ป่วยบางรายรู้สึกตัว แต่มีม่านตาขยายกว้างไม่ตอบสนองต่อแสง และกระจกตาไม่ตอบสนองต่อการกระตุ้น ในรายที่ได้รับพิษรุนแรงมักมีกล้ามเนื้อหายใจเป็นอัมพาต, ชีพจรเบาเร็วหรือช้า, หัวใจเต้นผิดปรกติ, แรงดันเลือดตก, อุณหภูมิร่างกายต่ำ, ตัวเขียว, และมักชัก, หมดสติ, จนถึงหยุดหายใจ ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้ภายใน ๓๐ นาที จากการหายใจล้มเหลว  การรักษาที่สำคัญ ได้แก่ การรักษาตามอาการและประคับประคองให้ผู้ป่วยพ้นขีดอันตรายต่อชีวิต, ดูแลทางหายใจ ถ้าผู้ป่วยหายใจไม่พอให้ใส่ท่อหลอดลมคอ และใช้เครื่องช่วยหายใจ ให้สารน้ำเข้าหลอดเลือดดำ และถ้าแรงดันเลือดต่ำมากอาจให้โดปามีน รักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ถ้าเต้นช้ามากให้ทดลองฉีดแอโทรปีน และถ้าไม่ได้ผลต้องใส่เครื่องกำกับจังหวะการเต้นของหัวใจ หลังจากที่ได้รักษาประคับประคอง จนอาการแสดงแห่งชีวิตมีเสถียรภาพแล้ว ให้ใส่ท่อสวนล้างกระเพาะอาหาร ใส่ผงถ่านกัมมันต์ประมาณ ๑ กรัม/กก. เข้าไปในกระเพาะอาหาร และล้างด้วยสารละลายโซเดียมไบคาร์บอเนต ๒% จนใส แล้วให้ผงถ่านกัมมันค์ต่อไปเป็นระยะ ๆ ถ้าผู้ป่วยไม่ถ่ายควรให้ยาระบายด้วย ปัจจุบันยังไม่มียาต้านพิษที่มีประสิทธิภาพ การรักษาประคับประคองที่ดีสามารถทำให้อาการต่าง ๆ ค่อย ๆ ทุเลาภายใน ๒๔-๔๘ ชั่วโมง และผู้ป่วยจะหายปรกติ สิ่งที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ คือ การคิดว่าผู้ป่วยเสียชีวิตแล้ว เนื่องจากพิษสามารถทำให้ดูเสมือนผู้ที่เสียชีวิตแล้ว

Downloads

Published

2023-12-26