พรรณไม้ในวิถีชีวิตของคนไทย: พรรณไม้ในประเพณีชีวิต (ปลูกเรือน แต่งงาน การเกิด โกนจุก บรรพชาสามเณร อุปสมบท และการตาย)
Keywords:
มนุษยศาสตร์, สังคมศาสตร์, พรรณไม้, วิถีชีวิต, ประเพณีAbstract
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะศึกษาประเพณีชีวิต และภูมิปัญญาในการดำเนินชีวิตของบรรพชนไทย ที่อยู่ร่วมกันกับธรรมชาติซึ่งมีพรรณไม้เป็นตัวแทน อย่างตระหนักในคุณค่าซึ่งกันและกัน อยู่ร่วมกันอย่างมีดุลยภาพ และเพื่อให้องค์ความรู้ด้านวัฒนธรรมภูมิปัญญาในการดำเนินชีวิตร่วมกับธรรมชาติของบรรพชนไทย ได้รับการจัดระบบให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้ และเข้าถึงได้ง่าย มีเครือข่าย มีพลวัต และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งด้านการศึกษา และปรับใช้เพื่อการพัฒนา การวิจัยนี้ใช้วิธีการทางประวัติศาสตร์(Historical Methods) เป็นหลักในการดำเนินการ ผลการวิจัยพบว่า ความสัมพันธ์ระหว่างคนไทยกับสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ มีการปรับเปลี่ยนไปตามการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ในอดีตคนไทยนับถือ(เคารพ) ต้นไม้ เพราะเชื่อว่าต้นไม้ใหญ่มีเทพารักษ์สถิตอยู่ และเชื่อว่ามิ่งขวัญของคนอยู่ที่ต้นไม้ต่าง ๆ แตกต่างกันไปตามปีเกิด(ปีนักษัตร) ผู้วิจัยได้จัดกลุ่มต้นไม้มงคลตามทรรศนะของคนไทยออกเป็น 4 กลุ่ม คือ 1) ไม้มงคลที่เป็นอาหารและยา 2) ไม้มงคลดอกหอม 3) ไม้มงคลนาม (ชื่อเป็นมงคล) และ 4) ใบไม้มงคลในประเพณีชีวิต พรรณไม้มงคลทั้ง 4 กลุ่มนี้ บรรพชนไทยได้นำมาใช้ในแต่ละประเพณีชีวิตเพื่อสร้างความเชื่อมั่น (ความหวัง) เพื่อการดำรงอยู่อย่างปลอดภัย สะดวกสบายอุดมสมบูรณ์ สงบร่มรื่น และเพื่อความรื่นรมย์ นับแต่เริ่มต้นชีวิตครอบครัวในประเพณีการปลูกเรือน การแต่งงาน การให้กำเนิดทารก (การเกิด) การโกนจุกการบรรพชาสามเณร การอุปสมบท (บวชพระ) และการตาย ไม้มงคลทั้ง 4 กลุ่มจะมีบทบาทอยู่ในกระบวนการ (ขั้นตอนต่าง ๆ) ของแต่ละประเพณีชีวิตของคนไทยมากบ้างน้อยบ้าง ตามความสำคัญของพืชพรรณไม้นั้น ๆ ต่อวิถีชีวิตของคนไทย จารีต ขนบธรรมเนียม และประเพณีปฏิบัติต่าง ๆ ที่บรรพบุรุษไทยถ่ายทอดให้แก่บุตรหลานและเผ่าพันธุ์ของตน แสดงให้เห็นภูมิปัญญาในการดำรงชีวิต และเผ่าพันธุ์โดยการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างมีดุลยภาพ และมีสำนึกในคุณค่าของกันและกันDownloads
Issue
Section
Articles