รูปแบบการจัดบริการวิชาการและการสร้างเครือข่าย ความร่วมมือสำหรับห้องสมุดโรงเรียน ในจังหวัดจันทบุรี

Authors

  • ดาราวรรณ สุวรรณทา

Keywords:

ห้องสมุดโรงเรียน, รูปแบบการจัดบริการวิชาการ, การสร้างเครือข่ายความร่วมมือ ระหว่างห้องสมุด

Abstract

       การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาสภาพและปัญหาของห้องสมุดโรงเรียนในจังหวัดจันทบุรี รวมทั้งศึกษาเปรียบเทียบความต้องการบริการวิชาการของครูบรรณารักษ์และการสร้างเครือข่ายความร่วมมือสำหรับห้องสมุดโรงเรียนในจังหวัดจันทบุรี จำแนกตามวุฒิการศึกษาและประสบการณ์การทำงานในห้องสมุดตลอดจนนำเสนอรูปแบบที่เหมาะสมในการให้บริการวิชาการของสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี แก่โรงเรียนในจังหวัดจันทบุรี กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ครูบรรณารักษ์/หัวหน้าห้องสมุด จำนวน 152 คน และผู้บริหารสถานศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา จังหวัดจันทบุรี จำนวน 5 คนเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลในการวิจัยครั้งนี้ คือ แบบสอบถามและแบบสัมภาษณ์ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างค่าเฉลี่ย 2 กลุ่มใช้สถิติค่าที (t- test for Independent Samples)         ผลการวิจัยมีดังนี้ 1) ครูบรรณารักษ์ส่วนใหญ่มีวุฒิการศึกษาในสาขาอื่น ๆ ที่ไม่ใช่สาขาบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ โดยมีประสบการณ์ในการทำงานห้องสมุด 5 ปีหรือต่ำกว่า 2) สภาพทั่วไปของห้องสมุดโรงเรียนเป็นห้องสมุดขนาดเล็กมีครูบรรณารักษ์รับผิดชอบเพียงคนเดียว และส่วนใหญ่ยังไม่มีโปรแกรมที่ใช้จัดการฐานข้อมูลทรัพยากรสารสนเทศของห้องสมุดหรือระบบห้องสมุดอัตโนมัติ3) ครูบรรณารักษ์มีความต้องการเข้าร่วมกิจกรรมบริการวิชาการในภาพรวมในระดับมาก 4) ครูบรรณารักษ์มีความต้องการสร้างเครือข่ายความร่วมมือสำหรับห้องสมุดในระดับมาก 5) ครูบรรณารักษ์ที่มีวุฒิการศึกษาและประสบการณ์ต่างกันมีความต้องการบริการวิชาการและการสร้างเครือข่ายความร่วมมือสำหรับห้องสมุดในบางรายข้อแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05

Downloads