กระบวนการยุติธรรมกับความยากจน: การบูรณาการและสร้างเอกภาพเพื่อการกำหนดนโยบายและทิศทางการแก้ปัญหา
Keywords:
กระบวนการยุติธรรม, การพัฒนาชนบท, ความจน, อาชญากรรมAbstract
“คนด้อยโอกาส” เป็นภาพปัญหาที่เชื่อมโยงแนบสนิทกับ “ความยากจน” ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยได้ใช้ความพยายามแก้ไข และแสดงความมุ่งมั่นที่จะขจัดปัญหาความยากจนให้หมดไป ทุ่มเททรัพยากรมหาศาล แต่ผลลัพธ์ก็คือความยากจน และความด้อยโอกาสกลับทวีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และสวนทางกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมทางสังคม นอกจากนั้นสภาพสะท้อนจากผู้กำหนดนโยบายของประเทศมักจะพิจารณาในลักษณะ “คนยากจนคือคนที่มีรายได้น้อย” ซึ่งก่อให้เป็นจุดกำเนิดของแนวคิดทางการพัฒนาที่จะสร้างความมั่งคั่งเพื่อให้ผลจากความมั่งคั่งไปลดอัตราคนมีรายได้น้อย แต่สภาพที่ปรากฏอันเป็นผลลัพธ์ของผลการดำเนินการตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตั้งแต่ ฉบับที่ ๑-๘ (พ.ศ. 2504-2544) กลับกลายเป็นว่าสร้างความมั่งคั่งให้กับคนที่มีสถานภาพทางสังคมที่ได้เปรียบและคนร่ำรวย โดยเป็นปัจจัยเอื้ออำนวยเปิดโอกาสให้คนเหล่านี้เข้าถึงความมั่งคั่งได้มากกว่านอกจากนั้นความยากจนยังเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับการพัฒนาชนบทของสังคมไทยอีกด้วย และยิ่งสะท้อนภาพความรุนแรงของปัญหาความยากจนที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น และประชาชนที่อยู่ในขอบข่ายของความยากจนอาศัยอยู่ในชนบทประมาณ 1 ใน 5 ของประชากรทั้งประเทศ ภาพปัญหาความยากจนเด่นชัดจากผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติในด้านการกระจายรายได้และความยากจนที่เพิ่มช่องว่างคนจนและคนรวย ที่พบว่าการกระจายรายได้และความยากจนเลวลงอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะตั้งแต่ พ.ศ. 2524 เป็นต้นมา (Hutaserani & Jitsuchon, 1988, p. 17-18) ยังผลให้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2525-2529) หยิบเอาปัญหาความยากจนมาเป็นประเด็นของการพัฒนา โดยมีกลยุทธ์ คือ กำหนดพื้นที่เป้าหมายชี้วัดจากความยากจนหนาแน่นเป็นเกณฑ์ แต่ความยากจนกลับทวีมากขึ้น จนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2535-2539) จึงได้เร่งรัดให้มีการแก้ไขปัญหานี้เป็นกรณีพิเศษ และเพิ่มการพิจารณาไปถึงระดับครัวเรือนยากจน โดยตั้งเป้าหมายว่าเมื่อสิ้นสุดของแผนฯ ครัวเรือนยากจนจะลดลง ๒๐% และขยายไปถึงครัวเรือนชนบทต้องปรับปรุงแก้ไขสภาพความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น ทั้งด้านสุขภาพอนามัย การศึกษา การมีงานทำ มีที่ดินทำกินและการประกอบอาชีพต่าง ๆ (สำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2533, หน้า 48-49) ซึ่งมีข้อสังเกตุคือ ไม่มีด้านกระบวนการยุติธรรมหรือสิทธิเสรีภาพพื้นฐาน และโครงการต่าง ๆ ที่ปฏิบัติจะมีลักษณะของการสงเคราะห์ด้านต่าง ๆ ในสภาพครอบครัวยากจน ซึ่งในทางปฏิบัติจะเป็นการชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของปัญหาความยากจนของประเทศ นับแต่เกิดปรากฏการณ์ชัดเจนมาตลอด 25 ปี (พ.ศ. 2519-2544) ในช่วงปลายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 7 นั้น ได้เริ่มมีการพยายามหาคำตอบในการศึกษาหาสาเหตุของความยากจนเริ่มมีประเด็นความคิดและเกิดความขัดแย้งในเชิงทฤษฎีDownloads
Published
2024-05-21
Issue
Section
Articles