การศึกษาความหลากหลายทางระบบนิเวศป่าชายเลนบริเวณอ่าวคุ้งกระเบน จังหวัดจันทบุรี

Authors

  • สุภาพร มานะจิตประเสริฐ
  • อัครเดช โพธิ์สุวรรณ

Keywords:

ความหลากหลายทางชีวภาพ, นิเวศวิทยาป่าชายเลน, ป่าชายเลน, ไทย, จันทบุรี

Abstract

การศึกษาความหลากหลายในระบบนิเวศป่าชายเลน บริเวณพื้นที่อ่าวคุ้งกระเบนและพื้นที่โดยรอบ โดยใช้ฐานข้อมูลของพื้นที่ลุ่มน้ำภาคตะวันออก ผลการศึกษาพบว่าพื้นที่ป่าชายเลนมีความหนาแน่นอย่างมาก โดยเฉพาะบริเวณศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน ซึ่งเป็นป่าชายเลนเดิมบางส่วน และเป็นป่าที่ปลูกทดแทน ในการศึกษาครั้งนี้สามารถจำแนกเขตของป่าชายเลนตามหมวดหมู่ เขตพันธ์ไม้ป่าชายเลนบริเวณพื้นที่ศึกษาออกเป็น 4 เขต ดังนี้ เขตป่าโกงกาง ประกอบด้วยโกงกางใบเล็ก (Rhizophoro apiculate) ซึ่งขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น โกงกางใบใหญ่ (R.mucronata) ซึ่งขึ้นอยู่ทางด้านนอกริมฝั่งแม่น้ำโดยมากมักขึ้นเป็นกลุ่ม ๆ และต้นแสมขึ้นแซมตามชายป่าด้านนอก หรือถัดเข้าไปเพียงเล็กน้อย ซึ่งสังเกตได้เพราะมีต้นสูงใหญ่กว่าโกงกางนอกจากนี้ยังมีประสักและพังกาหัวสุม ขึ้นแทรกอยู่ทางด้านในของเขตนี้ ซึ่งอยู่ในระยะประมาณ 50-100 เมตร จากชายฝั่ง และในบางแห่งพบต้นจาก (Nypa) ขึ้นปะปนอยู่ด้วย โดยเฉพาะในบริเวณแหล่งน้ำกร่อยเขตป่าตะบูนและโปรง ประกอบด้วย ตะบูน (Xylocarpus) ขึ้นต่อจากเขตต้นโปรงเข้าไป และมีต้นฝาดขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น บางบริเวณอาจมีลำแพนแทรกอยู่ด้วย เขตป่าตาตุ่มและฝาด เป็นบริเวณที่มีดินเลนแข็งขึ้นอยู่ในระดับที่น้ำจะท่วมถึงในช่วงน้ำเกิดอยู่ถัดจากป่าตะบูนและโปรงขึ้นไป โดยมีต้นฝาดขึ้นอยู่อย่างหนาแน่นปะปนกับต้นตาตุ่ม โดยบางแห่งจะมีต้นลำแพนขึ้นแทรกอยู่ด้วย และเขตป่าเสม็ด ประกอบด้วยเสม็ดซึ่งขึ้นอยู่หนาแน่น เป็นเขตสุดท้ายของป่าชายเลนที่น้ำท่วมถึงในช่วงน้ำเกิดหรือท่วมไม่ถึง ติดต่อกับป่าบกหรือทุ่งนา นอกจากนี้ ความหลากหลายในระบบนิเวศป่าชายเลนบริเวณพื้นที่ศึกษา ยังพบสิ่งมีชีวิตจำพวกสัตว์ประเภทต่าง ๆ เนื่องจากป่าชายเลนเป็นแหล่งที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยอาหารจึงมีสัตว์น้ำและสัตว์บกนานาชนิด ตลอดจนสัตว์มีกระดูกสันหลังจำพวกปลา สัตว์เลื้อยคลาน นกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดสัตว์ต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีความสำคัญทางเศรษฐกิจ และมีความสำคัญต่อระบบนิเวศป่าชายเลนเป็นอย่างยิ่ง

Downloads

Published

2024-05-30