การวิเคราะห์องค์ประกอบของแบบสอบถามพฤติกรรมการรับประทานอาหารในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ

Authors

  • ปณิชา พลพินิจ
  • อาภรณ์ ดีนาน
  • วิภา วิเสโส

Keywords:

โรคหลอดเลือดหัวใจ, พฤติกรรม, การรับประทานอาหาร, การวิเคราะห์, ความเชื่อมั่น แบบสอดคล้องภายใน

Abstract

          การวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์องค์ประกอบของแบบสอบถามพฤติกรรมการรับประทานอาหารในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ โดยการวิเคราะห์จากข้อมูลทุติยภูมิของการใช้แบบสอบถามพฤติกรรมการรับประทานอาหาร กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ จำนวน 268 ราย ที่มารับการรักษา ณ แผนกผู้ป่วยนอกโรคหัวใจของโรงพยาบาลระดับทุติยภูมิในภาคตะวันออกจำนวน 2 แห่ง วิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงสำรวจด้วยวิธีการวิเคราะห์องค์ประกอบหลัก และสกัดองค์ประกอบด้วยการหมุนแกนแบบออโธโกนอลด้วยวิธีแวริแมกซ์ และวิเคราะห์ความเชื่อมั่นแบบสอดคล้องภายในด้วยการคำนวณค่าสัมประสิทธิ์แอลฟ่าครอนบาค          ผลการศึกษาครั้งนี้มีค่า KMO เท่ากับ .86 และค่า MSA ของแบบสอบถามรายข้ออยู่ระหว่าง .604 - .908 ผล Bartlett’s test of Sphericity มีนัยสำคัญทางสถิติ (p < .001) และพบว่าแบบสอบถามการรับประทานอาหารมีองค์ประกอบหลัก 2 ด้าน คือ ด้านการรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสมต่อสุขภาพ มีข้อคำถาม จำนวน 11 ข้อ ซึ่งมีค่าน้ำหนักองค์ประกอบระหว่าง .42 - .76 ส่วนด้านการรับประทานอาหารที่มีผลดีต่อสุขภาพ มีข้อคำถาม จำนวน 6 ข้อ และมีค่าน้ำหนักองค์ประกอบ ระหว่าง .42 - .85 โดยทั้งสององค์ประกอบสามารถอธิบายความแปรปรวนร่วมกันได้ร้อยละ 47.50 ผลการตรวจสอบความเชื่อมั่นแบบสอดคล้องภายในมีค่าสัมประสิทธิ์แอลฟ่าครอนบาค ของแบบสอบถามทั้งฉบับเท่ากับ .87 และรายด้านเท่ากับ .72 และ .76 ตามลำดับ จากการศึกษาครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า แบบสอบถามนี้สามารถนำไปใช้ในการศึกษาหรือประเมินพฤติกรรมการรับประทานอาหารในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจและในบริบทของสังคมไทย           The purpose of this research was to evaluate the factors and internal consistency of the eating behavior questionnaire in patients with coronary artery disease. This secondary analysis of 268 patients with coronary artery disease was analyzed for validation. Exploratory factor analyses (EFA) was deployed with principal component analysis and Varimax method for factor extraction and rotation respectively. Internal consistency was analyzed using Cronbach’s alpha coefficient.          Results indicated appropriate values for sampling adequacy (KMO value of .86 and MSA value for each item of .604 - .908) and Bartlett’s test of Sphericity (p < .001), and found two dimensions of the eating behavior questionnaire: healthy eating behavior and unhealthy eating behavior. The dimensions consisted of 6 items and 11 items, respectively, which yielded factor loadings of .42 - .85 and .42 - .76 respectively. The total variance accounted for was 47.50%. Cronbach’s alpha coefficients were .87 for the whole questionnaire, and .72 and .76 for the two dimensions. The results suggest that the eating behavior questionnaire could be appropriately used to assess eating behaviors in persons who are at risk of and/or diagnosed with cardiovascular disease.

Downloads

Published

2022-12-15