วิวัฒนาการระบบเศรษฐกิจไทย ในรอบ 200 ปี

Authors

  • สุธี ประศาสน์เศรษฐ

Abstract

การพิจารณาถึงวิวัฒนาการเศรษฐกิจไทยในรอบ 200 ปีที่ผ่านมา เป็นเรื่องที่เราจะต้องศึกษาค้นคว้ากันอย่างรอบด้านและเจาะลึก ซึ่งผู้เขียนยัง ไม่อยู่ในฐานะจะทำเช่นนั้นได้ในเวลานี้ การเขียนเรื่องนี้อยู่ภายใต้ข้อจำกัด ด้านเวลาและหน้าพิมพ์ ก็ต้องจำกัดแนวเรื่องลงมาในลักษณะสังเขป แต่ครอบคลุมในด้านหลัก ๆ และพอเพียงที่จะนำมาอภิปรายกัน ในการนี้ ผู้เขียนก็ต้องเลือกช่วงเวลาที่มีลักษณะทางเศรษฐกิจและสังคมคล้ายคลึงกัน มาเป็นตัวกำหนดช่วงทางประวัติศาสตร์และในแต่ละช่วงนั้น ก็พิจารณาถึง โครงสร้างทางเศรษฐกิจหรือสังคมที่ดำรงอยู่หรือกำลังคลี่คลายไปอย่างพอเป็น สังเขป ในด้านช่วงเวลาก็ขอแบ่งเป็น 3 ช่วง คือ ก) ช่วงก่อนสนธิสัญญาเบาริง ปี ค.ศ. 1855 ช่วงนี้เป็นช่วงที่ เศรษฐกิจไทยเป็นอิสระจากอิทธิพลของทุนนิยมโลก ระบบสังคมไทย มีพัฒนาการอย่างเอกเทศและเป็นไปอย่างเชื่องช้า ข) จากช่วงปี ค.ศ. 1855 ถึงยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ช่วงนี้ เป็นช่วงที่ระบบเศรษฐกิจไทยได้มีการสอดเกี่ยวเข้ามาอยู่ในวงจรการแบ่งงาน กันทำระหว่างประเทศแบบอาณานิคม และ ค) ช่วงการแบ่งงานกันทำระหว่างประเทศแบบใหม่ ประมาณทศวรรษ 1960 ถึงปัจจุบัน [2525] ในช่วง ข) และ ค) นั้น ระบบสังคมไทยโดยส่วนรวม ได้รับแรงปะทะ และถูกกระทบกระเทือนจากการขยายตัวของระบบทุนนิยมในระดับโลก ผลสะเทือนนี้ทำให้แบบวิถีการผลิตในสังคมไทยต้องมีการเปลี่ยนแปลงใน ทิศทางใหม่มากขึ้น ในการพิจารณาถึงหัวข้อ ข) และ ค) นี้เราจะกล่าวถึงความ สัมพันธ์กับกลุ่มประเทศศูนย์กลางทุนนิยมโลกด้วย ในฐานะที่เป็นประเทศที่มี พัฒนาการแบบทุนนิยมรอบนอก (Peripheral Capitalism) ในด้านการคลี่คลายทางโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมนั้น เราควรจะ พิจารณาถึงประเด็นต่อไปนี้สำหรับแต่ละช่วงคือ 1) ลักษณะพื้นฐานทาง เศรษฐกิจเป็นอย่างไร 2) ลักษณะทางชนชั้นที่พัฒนาควบคู่กับกระบวนการ ผลิตนั้นเป็นอย่างไร 3) ลักษณะทางสถาบันการเมืองและสังคม ตลอดจน อุดมการณ์และลักษณะของอำนาจรัฐที่พัฒนามาตามข้อ 1) และ 2) นั้นเป็น อย่างไร แต่ภายใต้ข้อจำกัดดังกล่าวข้างต้น บทความนี้คงเน้นหนักได้เฉพาะข้อ 1) และเอ่ยถึงข้อ 2) บ้าง ตามแต่ความคล้องจองของเนื้อเรื่อง ส่วนข้อ 3) นั้น กล่าวได้ว่าบทความนี้คงไม่อาจกล่าวถึงได้เลย

Downloads

Published

2022-10-30