ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความไม่ซื่อสัตย์ทางวิชาการของนักศึกษามหาวิทยาลัย

Factors Influencing Academic Dishonesty of University Students

Authors

  • สุชาดา กรเพชรปาณี

Keywords:

ความซื่อสัตย์, การทุจริต (การศึกษา), นักศึกษา, การศึกษา, การประเมินผลทางการศึกษา, การวัดผลทางการศึกษา

Abstract

พฤติกรรมไม่ซื่อสัตย์ทางวิชาการของศึกษาส่งผลโดยตรงต่อความเป็นธรรมในการเรียนการสอนและการประเมินผลการศึกษา ทำให้นักศึกษาที่มีความซื่อสัตย์ไม่ได้รับความเป็นธรรม อาจทำให้พฤติกรรมไม่ซื่อสัตย์ติดตัวนักศึกษาไปสู่โลกของการทำงาน และส่งผลให้สังคมขาดความเชื่อถือไว้วางใจสถาบันการศึกษา การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาโมเดลความสัมพันธ์เชิงสาเหตุของปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมไม่ซื่อสัตย์ทางวิชาการของนักศึกษามหาวิทยาลัย เพื่อตรวจสอบความสอดคล้องของโมเดลที่พัฒนาขึ้นกับข้อมูลเชิงประจักษ์ และเพื่อตรวจสอบความตรงของโมเดลข้ามกลุ่ม ตัวแปรในโมเดลประกอบด้วยตัวแปรอิสระ 4 ตัว ได้แก่ เจตคติต่อพฤติกรรมไม่ซื่อสัตย์ทางวิชาการ การคล้อยตามกลุ่มเพื่อน การรับรู้ความสามารถควบคุมพฤติกรรม และความตั้งใจกระทำพฤติกรรมไม่ซื่อสัตย์ทางวิชาการ ตัวแปรตามคือพฤติกรรมไม่ซื่อสัตย์ทางวิชาการ กลุ่มตัวอย่างเป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรีจากหลายสาขาวิชาของมหาวิทยาลัยของรัฐแห่งหนึ่งที่ศึกษาอยู่ในปีการศึกษา 2548 และ 2549 จำนวนรวม 1,224 คน กลุ่มตัวอย่างนักศึกษาปีการศึกษา 2548 ใช้สำหรับพัฒนาโมเดลความสัมพันธ์เชิงสาเหตุ ส่วนกลุ่มตัวอย่างนักศึกษาปีการศึกษา 2549 ใช้ในการตรวจสอบความตรงของโมเดลข้ามกลุ่ม         ผลการวิจัย ปรากฏว่าโมเดลมีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์ดี (ค่าไค-สแควร์ เท่ากับ 0.57 ที่องศาอิสระเท่ากับ 6 ค่าความน่าจะเป็น (p) เท่ากับ 1.00 ดัชนีวัดระดับความกลมกลืน (GFI) เท่ากับ 1.00 ดัชนีวัดระดับความกลมกลืนที่ปรับแก้แล้ว (AGFI) เท่ากับ 1.00) ผลการวิเคราะห์ความตรงข้ามกลุ่มปรากฏว่าตัวแปรทั้งหมดในโมเดลสามารถอธิบายความแปรปรวนของพฤติกรรมไม่ซื่อสัตย์ทางวิชาการของนักศึกษาได้ร้อยละ 22.0 ตัวแปรที่มีอิทธิพลทางตรงต่อพฤติกรรมไม่ซื่อสัตย์ทางวิชาการของนักศึกษา ได้แก่ ความตั้งใจที่จะกระทำพฤติกรรมไม่ซื่อสัตย์ทางวิชาการ และการคล้อยตามกลุ่มเพื่อน ผู้วิจัยเสนอแนะผู้บริหารมหาวิทยาลัยควรให้ความสนใจทั้งในด้านการตรวจสอบและการป้องกันพฤติกรรมไม่ซื่อสัตย์ทางวิชาการของนักศึกษา ตลอดจนการสร้างความตระหนักเรื่องจริยธรรมทางวิชาการให้เกิดขึ้นในชุมชนวิชาการ         Academic dishonesty among university students affects the integrity of teaching, learning and evaluation. Honest students are probably often unfairly judged. Dishonest students may carry their dishonest behavior into their world of work. Dishonest behavior among students can lead to a societal distrust of educational institutions. In an attempt to better understand the factors affecting student dishonesty, the impact of four independent variables on dishonesty behavior was investigated. The variables were attitude towards academic dishonesty, peer perceptions, perceived behavioral control, and intention to conduct academic dishonesty. Multi-disciplinary samples were drawn from year 2005 and 2006 cohorts at a state university, with a total sample size of 1,224 students. A causal-relationship model was developed in the 2005 cohort, and cross-validated in the 2006 cohort.  The model was found to match empirical data (chi-square value of 0.57 with 6 degrees of freedom, p = 1.00; goodness of fit index and adjusted goodness of fit index both at 1.00), accounting for 22% of dependent variable variance when cross-validated. Two of the independent variables were causally linked to dishonest behavior: intention to conduct academic dishonesty and peer perceptions. It is suggested that university administrators give greater attention to detecting and preventing dishonesty, and endeavor to promote an enhanced awareness of academic integrity within the academic community.

Published

2021-04-29