หาดวอนนภา ชีวิตวัฒนธรรมชุมชนชายทะเล : การวิจัยผ่านกระบวนการศิลปะการละคร

Authors

  • ไพบูลย์ โสภณสุวภาพ

Keywords:

หาดวอดนภา, กระบวนการศิลปะการละครเพื่อการเรียนรู้, ชีวิตวัฒนธรรม

Abstract

บทความวิจัยนี้เขียนขึ้นเพื่อนำเสนอผลการวิจัยเรื่องหาดวอนภา : ชีวิตวัฒนธรรมชุมชนชายทะเล เป็นการวิจัยโดยใช้กระบวนการศิลปะการละครมาเป็นเครื่องมือสำหรับการวิจัย กำหนดวัตถุประสงค์การวิจัยไว้ 2 ข้อ คือเพื่อวิเคราะห์ถึงการดำรงอยู่และการปรับเปลี่ยนของชุมชนหาดวอนนภา และเพื่อศึกษา “ชีวิตวัฒนธรรม” ของชุมชนหาดวอนนภา จากผู้ให้ข้อมูลหลักประกอบไปด้วยแกนนำชุมชนหาดวอนนภาและบุคคลทั่วไป วิเคราะห์ข้อมูลแบบการตีความข้อมูล (ContentAnalysis) และป้อนข้อมูลคืนสู่ชุมชนด้วยการแสดงละครเรื่อง เรื่องเล่าจากยายวอน ...นภาผลการวิจัยพบว่าการดำรงอยู่และการปรับเปลี่ยนพื้นที่ของชุมชนหาดวอนนภา มาจากทิศทางการพัฒนาชุมชนที่กำหนดโดยคนนอกชุมชน แผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก(Eastern Seaboard Development Plan) และนโยบายด้านการท่องเที่ยวแบบวัฒนธรรมบริโภคส่งผลให้ความรู้ ความคิด ความเชื่อและค่านิยมของคนในชุมชนเปลี่ยนไป ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพภูมิศาสตร์ ภูมินิเวศและภูมิสังคมความเชื่อที่เคยเชื่อว่า “หน้าบ้านเราคือแหล่งอาหารที่หล่อเลี้ยงชีวิต” เลือนหายไปเพราะหน้าบ้านเริ่มเปลี่ยนไป ทรัพยากรทางทะเลเริ่มลดลง ทั้งนี้นโยบายต่างๆส่งผลให้เกิดการปรับพื้นที่ ปรับเปลี่ยนชีวิตชุมชนและอาชีพทางทะเล แต่ยังปรากฏรูปแบบ “ชีวิตวัฒนธรรม” ที่มีลักษณะของชุมชนชายทะเล ยังดำรงวิถีชีวิตประมง ประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับทะเล ออกเรือหาปลา มีประเพณี ความเชื่อเรื่องศาลเจ้าและเรือ มีภูมิปัญญาท้องถิ่น อาหารทะเลพื้นบ้าน และชุมชนมีตลาดนัดที่สำคัญเป็นแหล่งวัตถุดิบทางทะเลและผักพื้นบ้านข้อเสนอแนะและแนวทางสำหรับการนำวิจัยไปใช้ประโยชน์ พบว่าชุมชนหาดวอนนภามีศักยภาพในการพัฒนาเป็นชุมชนชายทะเลในมิติชีวิตวัฒนธรรมและเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงระบบนิเวศ เพราะมีต้นทุนเกี่ยวพื้นที่และรูปแบบชีวิตวัฒนธรรมที่น่าสนใจ ทั้งนี้ควรสร้างการมีส่วนร่วมในการจัดการตนเองของชุมชนและส่งเสริมให้มีการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้คนในชุมชนรู้จักชุมชนตนเอง รู้จักศักยภาพของชุมชน เพื่อทำให้เป็นชุมชนที่สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาของเทศบาลเมืองแสนสุขที่ระบุไว้ว่า “มุ่งสร้างชุมชนในเทศบาลให้เป็นเมืองน่าอยู่ ควบคู่กับการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน มีแหล่งท่องเที่ยวที่สะอาดสวยงามเป็นที่รู้จักระดับสากล พัฒนาเศรษฐกิจสังคมให้เจริญรุ่งเรืองเพื่อให้ประชาชนอยู่ดีกินดีตลอดไป”

Downloads