การจัดการวัฒนธรรมชุมชน : ภูมิปัญญาในการเสริมสร้างความมั่นคงผู้สูงอายุ กรณีศึกษา ชุมชนลาหู่ อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่

Authors

  • ธีรพงษ์ บุญรักษา
  • ชูศักดิ์ สุมลเสถียร

Abstract

บทความวิจัยนี้ มีเป้าหมายในการนำเสนอผลการศึกษา ภูมิปัญญาการสร้างความมั่นคงให้กับผู้สูงอายุในชุมชน โดยได้เลือกพื้นที่ศึกษาใน 4 หมู่บ้าน ที่เป็นชุมชนชาวลาหู่ อำเภอแม่อายจังหวัดเชียงใหม่ งานวิจัยนี้ใช้วิธีการศึกษาแบบชาติพันธุ์วรรณา โดยนักวิจัยเข้าไปสังเกตพฤติกรรมและวิถีชีวิตทางสังคมและวัฒนธรรมของกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งการสัมภาษณ์เชิงลึก เพื่อทำความเข้าใจถึงระบบวิธีคิด ความเชื่อ และค่านิยม ที่มีผลต่อวิถีการปฏิบัติกับผู้สูงอายุที่ได้พัฒนาจนกลายเป็นภูมิปัญญาในการสร้างความมั่นคงให้ผู้สูงอายุชาวลาหู่ผลการศึกษาพบว่า ความมั่นคงของผู้สูงอายุชาวลาหู่ ขึ้นอยู่กับการธำรงอยู่ของวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวลาหู่ที่มีการสืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ภูมิปัญญาสำคัญที่จะธำรงรักษาวัฒนธรรมไว้ได้ คือ การจัดการวัฒนธรรมชุมชนให้มีความยั่งยืน ซึ่งพบว่าชาวลาหู่มีการจัดการวัฒนธรรมเริ่มจากการถ่ายทอดความเชื่อดั้งเดิมเกี่ยวกับความกตัญญูกตเวที ผ่านกระบวนการขัดเกลาทางสังคม ได้แก่ วาทกรรมคำสั่งสอน ผู้นำทางความเชื่อ ศาสนสถาน ระบบการปกครอง ผีบรรพบุรุษพิธีกรรม ครอบครัวและชุมชน จนกลายเป็นค่านิยมกตัญญูกตเวที บรรทัดฐานสังคม และระบบเกื้อกูล ซึ่งนำไปสู่ความมั่นคงของผู้สูงอายุในชุมชนชาวลาหู่ บทความนี้ยังได้นำเสนอความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นต่อวัฒนธรรมชุมชนชาวลาหู่ รวมทั้งแนวทางการจัดการวัฒนธรรมชุมชน เพื่อให้เกิดความมั่นคงในผู้สูงอายุลาหู่อย่างยั่งยืนในยุคปัจจุบัน

Downloads