การศึกษาบทบาทนางลำหับในละครนอก เรื่อง เงาะป่า
Keywords:
นางลำหับ, ละครนอก, เงาะป่าAbstract
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประวัติความเป็นมาของละครนอกสมัยกรุงศรีอยุธยาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ศึกษาองค์ประกอบ วิเคราะห์ท่ารำและบทบาทการแสดงของนางลำหับในละครนอกเรื่อง เงาะป่า ตอนแต่งงานผลการศึกษาพบว่า ละครนอกเกิดในสมัยกรุงศรีอยุธยาดัดแปลงมาจากละครโนราห์ชาตรีนิยมเล่นนอกวัง เรียกว่า “ละครชาวบ้าน” ผู้แสดงเป็นชายล้วน ดำเนินเรื่องด้วยความรวดเร็ว ไม่เน้นการร่ายรำที่งดงาม สอดแทรกบทตลกและใช้ถ้อยคำที่หยาบโลน ผู้แสดงขับร้องและเจรจาเองเรื่องที่นำมาแสดงส่วนใหญ่เป็นนิทานชาดก แต่งกายด้วยชุดสามัญชนและแต่งกายแบบยืนเครื่องโดยเลียนแบบเครื่องทรงของพระมหากษัตริย์ ใช้วงปี่พาทย์ชาตรีและวงปี่พาทย์เครื่องห้าบรรเลงประกอบการแสดง ละครนอกในสมัยกรุงธนบุรี ยังคงใช้รูปแบบและวิธีการแสดงที่สืบทอดมาจากสมัยกรุงศรีอยุธยาเช่นเดิม สำหรับการแสดงละครนอกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์มีการพัฒนาอย่างเด่นชัด พระมหากษัตริย์ทรงให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องทำให้เกิดละครนอกรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า “ละครนอกแบบหลวง” มีรูปแบบการแสดงที่ผสมผสานระหว่างละครนอกและละครใน ผู้แสดงเป็นหญิงล้วน ชายล้วน เน้นกระบวนการร่ายรำที่อ่อนช้อยงดงาม สอดแทรกมุขตลกแต่ไม่หยาบโลนละครนอกเรื่องเงาะป่า ตอนแต่งงาน มีรูปแบบและลักษณะการแสดงเป็นละครนอกแบบหลวง เรื่องราวแสดงให้เห็นถึงความรักระหว่างหนึ่งหญิงสองชาย และจบด้วยโศกนาฏกรรม องค์ประกอบในการแสดงถือเป็นสิ่งสำคัญช่วยสร้างบรรยากาศการแสดง บ่งบอกถึงยุคสมัย เชื้อชาติและเอกลักษณ์เฉพาะของตัวละครที่มีรูปพรรณสัณฐานเป็นพวกเงาะป่าซาไก มุ่งให้เห็นถึงปรัชญาและข้อคิดเกี่ยวกับประเพณีการแต่งงาน แฝงไว้ด้วยจารีตการคลุมถุงชน ความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ ความซื่อสัตย์ยึดมั่นในรักเดียวใจเดียว การรักนวลสงวนตัวของผู้หญิง มีการสอดแทรกองค์ความรู้คติสอนใจตลอดจนขนบธรรมเนียมจารีตประเพณีที่ดีงาม บทบาทการแสดงของนางลำหับ ใช้กระบวนท่ารำที่เป็นแบบแผนตามหลักนาฏศิลป์ไทยผสมกับการใช้ท่าทางสามัญชน ลักษณะการร่ายรำอ่อนช้อยงดงาม เป็นการรำใช้บทตามคำร้องเพื่อสื่อความหมายและอารมณ์ต่างๆ เป็นการถ่ายทอดเรื่องราวให้ผู้ชมเกิดความเข้าใจ นอกจากนี้ยังมีบทบาทการรำเดี่ยวในชุดลำหับแต่งตัว ซึ่งเป็นการแสดงความสามารถในด้านการร่ายรำตามหลักนาฏศิลป์ไทย ลักษณะของท่ารำมาจากเพลงแม่บทใหญ่เพลงช้าเพลงเร็วซึ่งเป็นกระบวนท่ารำตามรูปแบบการแสดงละครนอกแบบหลวงDownloads
Issue
Section
Articles