การพัฒนาการศึกษาในราชสำนักก่อนสมัยปฏิรูปในสมัยรัชกาลที่ 5 : การวางรากฐานการศึกษาแบบเป็นทางการและเป็นสากลของไทย

The Educational Development in Palace Before the Reform Period in the Reign of King Rama V: The Origin of Formal and Universal Education in Thailand

Authors

  • สุวิชัย โกศัยยะวัฒน์

Keywords:

การศึกษา, การพัฒนาการศึกษา

Abstract

การศึกษาของไทยแต่เดิมมานั้นมีศูนย์กลางอยู่ 3 แห่ง คือ บ้าน วัด และวัง รูปแบบของการศึกษาเป็นแบบไม่เป็นทางการ คือเรียนรู้กันเองตามอัธยาศัยของแต่ละคน อีกทั้งเรียนกันตามความถนัดของแต่ละครอบครัว และแต่ละวัดเป็นสำคัญ สำหรับการศึกษาในราชสำนัก ซึ่งเป็นการศึกษาของพระบรมวงศานุวงศ์และเจ้านายชั้นสูง เมื่อพิจารณาแล้ว อาจกล่าวได้ว่าเป็นการศึกษาที่ค่อนข้างมีแบบแผนเป็นทางการและมีระบบ มากกว่า 2 สถาบันแรก เพราะมีผู้สอน มีเนื้อหาที่ใช้สอน มีการติดตามผลการสอน โดยผู้สอนและได้นำชาวต่างชาติเข้ามาช่วยสอน ช่วยจัดทำหลักสูตรและจัดวางระบบต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา การศึกษาในราชสำนักได้มีการจัดกันมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นราชธานีแล้วดำเนินต่อมา จนถึงสมัยปฏิรูปประเทศในสมัยรัชกาลที่ 5 (พ.ศ. 2411-2453) เมื่อการศึกษาในราชสำนักได้มีการวางรูปแบบเป็นระบบแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ขยายการศึกษามายังประชาชน โดยอาศัยรูปแบบการศึกษาของโรงเรียนหลวง ในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งพระองค์จัดตั้งขึ้นเป็นแบบอย่าง เป็นต้นแบบโรงเรียนแห่งแรกที่ตั้งขึ้นให้ประชาชนทั่วไปได้ศึกษาเล่าเรียน คือ โรงเรียนวัดมหรรณพาราม ในปี พ.ศ. 2427 เรียกชื่อว่า “โรงเรียนหลวงสำหรับราษฎร” ซึ่งนับได้ว่าเป็นตัวอย่างที่ได้มาจากการศึกษาในราชสำนักและเห็นได้ว่ายังให้วัดเป็นศูนย์กลางในการขยายการศึกษา นอกจากนี้ การพัฒนาประเทศทุกด้านที่เกิดขึ้นในสมัยของ พระองค์ก็เป็นผลมาจากความเจริญทางการศึกษา ที่ได้รับแบบอย่างจากประเทศตะวันตกและบุคคล ชั้นนำคือพระราชโอรสและพระบรมวงศานุวงศ์ ได้นำความคิดแบบชาวตะวันตก ที่ได้ไปศึกษากลับมาสู่ประเทศไทยด้วยกันทุกพระองค์ ซึ่งมีอิทธิพลต่อโครงสร้างสังคมและแนวความคิด อันเป็นรากฐานในการพัฒนาประเทศไทยต่อมา

Downloads

Published

2024-03-25