“รับเทียมดา”: พิธีกรรม ความเชื่อ และปฏิบัติการของชุมชน ภาพสะท้อนสัมพันธภาพระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ

Authors

  • สวรินทร์ เบ็ญเด็มอะหลี

Keywords:

ประเพณีรับเทียมดา, พิธีกรรม, ความเชื่อ, ปฏิบัติการชุมชน

Abstract

การศึกษานี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบของประเพณีรับเทียมดาภายหลังการรื้อฟื้นประเพณีนี้ขึ้นมาอีกครั้ง และเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เกิดการรื้อฟื้น รวมถึงผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงของประเพณีนี้ของชุมชนควนโส ตำบลควนโส อำเภอควนเนียง จังหวัดสงขลา โดยใช้วิธีการรวบรวมข้อมูลการสัมภาษณ์เจาะลึกในรูปแบบการทำกิจกรรมไปพร้อมกับผู้ให้ข้อมูลอย่างเป็นกันเองกับชาวบ้าน ผู้นำชุมชน และเจ้าหน้าที่รัฐ รวมผู้ให้ข้อมูลทั้งสิ้นจำนวน 15 คน ตลอดจนการเข้าร่วมสังเกตแบบมีส่วนร่วมตลอดกิจกรรมของชุมชนที่เป็นพื้นที่ศึกษา คือ ชุมชนควนโส หมู่ที่ 11 บ้านบ่อหว้า ตำบลควนโส อำเภอควนเนียงจังหวัดสงขลา ผลการศึกษาพบว่า รับเทียมดา เป็นประเพณีที่ชุมชนในภาคใต้ถือปฏิบัติสืบต่อกันมาหลายศตวรรษ แต่ได้เลือนหายไปเป็นระยะเวลากว่า 30 ปีทางสำนักวัฒนธรรมจังหวัดสงขลาจึงมีนโยบายสนับสนุนและส่งเสริมให้มีการรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้งเมื่อ พ.ศ. 2545 สำหรับชุมชนควนโสได้รื้อฟื้นประเพณีรับเทียมดาขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2553 หลังจากได้เลือนหายไปจากชุมชนกว่า 20 ปี ทั้งนี้ การรื้อฟื้นเกิดขึ้นโดยการนำของผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งรับนโยบายมาจากสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสงขลาที่ส่งเสริมให้มีการรื้อฟื้นประเพณีนี้ขึ้นมา รวมถึงด้วยความตระหนักถึงคุณค่าในประเพณีอันงามของชุมชนที่ควรมีการสืบทอดสู่รุ่นลูกหลานต่อไป สำหรับรูปแบบพิธีกรรม ความเชื่อ และปฏิบัติการของชุมชน พิจารณาโดยรวมจะมีรูปแบบดังเดิมเฉกเช่นในอดีต แต่อาจมีองค์ประกอบบางประการแตกต่างจากชุมชนอื่น ๆ อาทิ การเรียกชื่อโรงเทียมดาว่า “บ้านเทวดา” ที่สื่อความหมายได้ชัดเจน และเข้าใจง่ายวัสดุที่ใช้ทำและตกแต่งบ้านเทวดาซึ่งใช้วัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น การเรียกชื่อธงราวว่า “ธงเทียว” ระยะเวลาการประกอบพิธีกรรมที่ยึดตามความยาวของบทสวด และการหว่านกำพฤกษ์ภายหลังเสร็จสิ้นพิธีกรรมอย่างไรก็ตาม แนวคิดอันเป็นแก่นแกนของประเพณีไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปโดยคนในชุมชนยังคงมีความเชื่อในอำนาจเหนือธรรมชาติ ซึ่งจะช่วยปกป้องและดลบันดาลให้ตนและครอบครัวอยู่เย็นเป็นสุข ประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้ผลผลิตดีและการเข้าร่วมพิธีกรรมถือเป็นเสริมสิริมงคลแก่ชีวิตในการเริ่มต้นชีวิตใหม่ในแต่ละปี ทั้งยังเชื่อและตั้งข้อสังเกตว่าใครที่ไม่เข้าพิธีกรรมดังกล่าวจะทำให้กระทำการสิ่งใดไม่ประสบผลสำเร็จ ดังนั้น ประเพณีรับเทียมดา จึงถือเป็นภาพสะท้อนสัมพันธภาพระหว่างมนุษย์และธรรมชาติของคนในชุมชนควนโส ซึ่งถือวิถีชีวิตการพึ่งพิงธรรมชาติทั้งการใช้ประโยชน์จากป่า การทำเกษตรกรรม และประมงพื้นบ้าน แม้กระแสความทันสมัยจะค่อย ๆ รุกคืบเข้ามาก็ตาม แต่ด้วยความเข้มแข็งของพื้นฐานความสัมพันธ์ดังกล่าวจึงทำให้การรื้อฟื้นประเพณีดังกล่าวเกิดขึ้นและสามารถดำรงอยู่ต่อไปในชุมชนได้

Downloads