ชุมชนโบราณในภาคตะวันออกสภาพทางภูมิศาสตร์และธรณีสัณฐานวิทยา

Authors

  • อัฌชา ก.บัวเกษร

Keywords:

ชุมชน, ธรณีสัณฐานวิทยา, ไทย (ภาคตะวันออก), โบราณคดี, แหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์

Abstract

การศึกษาแหล่งชุมชนโบราณในภาคตะวันออก ประเด็นสำคัญของการศึกษาคือเราจะต้องมองถึงลักษณะทางกายภาพของภาคตะวันออกที่ประกอบด้วย ลักษณะภูมิประเทศ ลักษณะภูมิอากาศ ลักษณะทางธรณีวิทยา และลักษณะทางธรณีสัณฐานวิทยาของภาคตะวันออกในอดีต ซึ่งจะทำให้เราทราบถึงลักษณะการตั้งถิ่นฐานของชุมชนโบราณในภาคตะวันออกได้เป็นอย่างดี เนื่องจากภาคตะวันออกสามารถแบ่งพื้นที่ ที่เป็นแผ่นดินและเป็นทะเลค่อนข้างชัดเจน พื้นที่ทั้งสองของภาคตะวันออกจะมีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ ที่เคยเป็นชายฝั่งทะเลเดิม ซึ่งมีกลุ่มชนเข้ามาตั้งถิ่นฐานตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ สมัยประวัติศาสตร์จนกระทั่งถึงปัจจุบัน ในช่วงเวลาประมาณ 6,000-1,500 ปีที่ผ่านมา บริเวณพื้นที่ภาคตะวันออกนี้ได้รับผลกระทบจากการขึ้นลงของระดับน้ำทะเล แต่ปัญหาการขึ้นลงของระดับน้ำทะเลไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการตั้งถิ่นฐานของกลุ่มชนในภาคตะวันออกในอดีตแต่อย่างใด จากหลักฐานทางโบราณคดีและทางธรณีสัณฐานวิทยาที่ได้ศึกษาบริเวณต่าง ๆ ในภาคตะวันออก พบว่า ได้มีกลุ่มชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์แยกย้ายกันเข้ามาสร้างถิ่นฐานและตั้งบ้านเรือนตามแนวชายฝั่งทะเลเดิมได้แก่กลุ่มโคกพนมดี กลุ่มโคกพุทรา กลุ่มโคกระกา กลุ่มบ้านบนเนิน กลุ่มโคกท่าเจริญ กลุ่มโคกขี้หนอน และกลุ่มบ้านบึงไผ่ดำ กลุ่มชนต่าง ๆ เหล่านี้ประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพื่อความอยู่รอดโดยอาศัยทรัพยากรจากชายฝั่งทะเล นอกจากนี้ยังมีกลุ่มชนก่อนประวัติศาสตร์ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ลึกเข้าไปในแผ่นดิน ได้แก่ กลุ่มบ้านห้วยกรวด กลุ่มเขาฉกรรจ์ กลุ่มเชิงเขาบรรทัด และกลุ่มคลองบอน

Downloads

Published

2024-06-04