ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล แสงสว่างแห่งวิชาชีพการพยาบาล

Authors

  • ดารัสนี โพธารส

Keywords:

ไนติงเกล, ฟลอเรนซ์, พยาบาล

Abstract

          มิสฟลอเรนซ์ ไนติงเกล กุลสตรีสูงศักดิ์ ชาวอังกฤษ เกิดเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม ค.ศ. 1820 ณ ประเทศอิตาลี ในขณะที่บิดามารดาเดินทาง ท่องเที่ยวในยุโรป ท่านเกิดในตระกูลที่ร่ำรวย จนไม่จําเป็นต้องประกอบอาชีพใด ๆ ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมชั้นสูง และดําเนินรอยตามกุลสตรีเชื้อสายผู้ดี ด้วยการอ่านหนังสือ เล่นดนตรี ปักผ้า จัดดอกไม้และช่วยเหลือคนยากจน ในเขตที่ดินที่เป็นของครอบครัว จนมิสไนติงเกลรู้สึกเบื่อหน่าย และหวาดกลัวการใช้ชีวิต อย่างไร้ค่าแบบสุภาพสตรีชั้นสูง ผู้มั่งคั่งในยุคนั้น ท่านจึงพยายามศึกษาหาความรู้ในเรื่องต่าง ๆ เพิ่มเติม ด้วยตนเอง ท่านเป็นสตรีที่มีความอ่อนโยน น่ารัก แต่ฉลาดแหลมคม รักความเป็นระเบียบ มีอารมณ์ละเอียดอ่อน เมื่อมีโอกาสท่านชอบให้ความช่วยเหลือ ผู้ทุกข์ยาก ทําให้ท่านมีความปรารถนาอยากจะเป็นพยาบาล จึงตัดสินใจเข้าเรียนพยาบาลอย่างจริงจัง เพื่อเข้าทํางานในโรงพยาบาล ทั้งที่ครอบครัวของท่านไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรง เนื่องจากในสมัยนั้น โรงพยาบาลเป็นสถานที่น่าหวาดกลัวมาก และควรหลีกเลี่ยงทุกที่จะเข้าไปใช้บริการเนื่องสภาพแวดล้อม สกปรกขาดการสุขาภิบาลที่ดี ผู้ป่วยจํานวนมากแออัด ยัดเยียดกัน แพทย์ทํางานโดยไม่คํานึงถึงการป้องกันการติดเชื้อ ผู้คนต่างแสดงอาการดูถูกเหยียดหยาม  พยาบาลว่าเป็นงานที่สําหรับผู้หญิงเลวที่สุดเท่านั้นจึง จะทํางานในสภาพอันเลวร้ายที่สุดของโรงพยาบาลได้ มิสไนติงเกลจึงต้องศึกษาวิชาพยาบาลอย่างลับ ๆ และมีโอกาสไปดูงานสถานพยาบาล ตลอดจนฝึกงาน ในโรงพยาบาลด้วย ในที่สุดท่านได้ทํางานพยาบาล สมความปรารถนา โดยเริ่มต้นจากการเข้ารับตําแหน่ง ผู้อํานวยการสถาบันรักษาผู้ป่วยสตรีแห่งกรุงลอนดอน ท่านได้รับการขอร้องให้ช่วยดูแลทหารอังกฤษที่เข้าร่วมสงครามไครเมียน ซึ่งทหารส่วนใหญ่เสียชีวิตจากการติดเชื้อ มิใช่การสู้รบกับทหารฝ่ายตรงข้าม เนื่องจากขาดสุขาภิบาลที่ดี มิสไนติเกล ต้องต่อสู้ทั้ง ความเจ็บป่วยของทหารและเจ้าหน้าที่ ที่ไม่เห็นด้วยกับแนวความคิดและการกระทำของท่าน โดยเฉพาะแพทย์ท่ามกลางสภาพอากาศหนาวเหน็บ ขาดแคลนเวชภัณฑ์และอุปรกรณ์ทางการแพทย์ ท่านต้องทำงานหนักดูแลทหารเหล่านี้อย่างใกล้ชิด หากระหว่างวัน ท่านไม่สามารถเดินตรวจเยี่ยมผู้ป่วยได้ ท่านก็จะทำเช่นนั้นในในตอนกลางคืน โดยจุดตะเกียงแบบตุรกีออกเดินไปทุกเตียง จึงมีผู้ให้สมญานามท่านว่าสุภาพสตรีผู้ถือตะเกียง หรือ “ Lady of the Lamp ” เมื่อสงครามสิ้นสุดลง ท่านยังคงดําเนินบทบาทของพยาบาล มีการก่อตั้งมูลนิธิไนติงเกล โรงเรียนพยาบาล วิทยาลัยพยาบาลท่านได้เขียนหนังสือว่าด้วยการพยาบาลและเป็นที่ปรึกษา ในการวางนโยบายสาธารณสุขของประเทศ ท่านไม่เคยยึดติดในชื่อเสียงเกียรติยศที่ท่านได้รับ จากการกระทําแต่คุณงามความดีอันเป็นคุณูปการ ใหญ่หลวงแก่วิชาชีพพยาบาล ในทางตรงกันข้ามท่าน บําเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม และวิชาชีพ พยาบาล แม้ว่าท่านจะเจ็บป่วย จนไม่สามารถเดินได้ตามปกติ ต้องนั่งเอนหลังบนโซฟาภายในห้องนอน จวบจนวาระสุดท้าย ท่านถึงแก่กรรมอย่างสงบ เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม ค.ศ. 1910 อายุได้ 90 ปี สิ้นสุดภารกิจการต่อสู้เพื่อผู้ทุกข์ยาก ผู้ป่วย และการยกระดับความเป็นวิชาชีพพยาบาลให้ทัดเทียม กับวิชาชีพอื่น ๆ ท่านได้ทิ้งผลงานอันเป็นประโยชน์ ไว้เบื้องหลัง เพื่อเป็นมรดกให้กับพยาบาลในรุ่นต่อมา ซึ่งเป็นพยาบาลวิชาชีพโดยตรง ให้ดํารงบทบาท ความเป็นพยาบาลที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการดูแลผู้ป่วยสืบไป

Downloads

Published

2022-09-16