นิเวศวิทยาการเมืองของการจัดการทรัพยากรชายฝั่งทะเลอ่าวบ้านดอน จังหวัดสุราษฎร์ธานี

Authors

  • เพ็ญนภา สวนทอง
  • โอฬาร ถิ่นบางเตียว

Keywords:

นิเวศวิทยาการเมือง, ความขัดแย้งทางนิเวศ, การจัดการทรัพยากรชายฝั่ง, อ่าวบ้านดอน

Abstract

           บทความนี้มุ่งศึกษานิเวศวิทยาการเมืองของการจัดการทรัพยากรชายฝั่งอ่าวบ้านดอน จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางนิเวศอ่าวบ้านดอน ความขัดแย้งทางนิเวศและปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดความขัดแย้ง และการเสนอแนวทางการจัดการทรัพยากรชายฝั่งอ่าวบ้านดอนที่เป็นธรรมและยั่งยืน การวิจัยเป็นเชิงคุณภาพ ใช้วิธีวิทยาเศรษฐศาสตร์การเมือง แบบวิภาษวิธี สหวิทยาการเชิงวิพากษ์ (Dialectic) เก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-dept Interview) คัดเลือกผู้ให้ข้อมูลหลักแบบเจาะจง (Purposive selection) ซึ่งเป็นตัวแทนของผู้ที่เกี่ยวข้องกับประมงชายฝั่งอ่าวบ้านดอน จำนวน 4 กลุ่ม ประกอบด้วย 1) ภาครัฐ 2) ผู้นำท้องถิ่น 3) ประมงพื้นบ้าน และ 4) ภาคประชาสังคม พื้นที่ใช้ในการศึกษา จำนวน 3 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอไชยา อำเภอพุนพิน และอำเภอกาญจนดิษฐ์          ผลการวิจัยพบว่า อ่าวบ้านดอนมีการเปลี่ยนแปลง 3 ยุค คือ ยุคเศรษฐกิจชุมชนพึ่งตนเองก่อน พ.ศ. 2504 เน้นอาศัยทรัพยากรเพื่อการดำรงชีพมาสู่การสัมปทานป่าและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายทะเล พ.ศ. 2504-2545 มีการให้สัมปทานป่าชายเลนเพื่อสร้างรายได้ของรัฐ และการจัดสรรพื้นที่ทะเลให้เกษตรกรเลี้ยงหอยตะโกรม (หอยนางรม) เพื่อแก้ปัญหาความยากจน จนถึง พ.ศ. 2532 รวมพื้นที่อนุญาต 40,656 ไร่ ครอบคลุมในพื้นที่อำเภอไชยา ท่าฉาง กาญจนดิษฐ์ และดอนสัก ต่อมารัฐส่งเสริมการส่งออกอาหารทะเล ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2545-2549) เกิดนโยบายการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน โครงการ Sea Food Bank พ.ศ. 2547 นำไปสู่การบุกรุกยึดครอบครองพื้นที่ทะเลนอกเขตอนุญาตกว่า 200,000 ไร่ เพื่อเลี้ยงหอยแครง เนื่องจากให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจสูง พื้นที่ส่วนรวมทางธรรมชาติ (The Commons) ถูกแย่งยึดเป็นพื้นที่ส่วนบุคคล (private land) ทะเลมีเจ้าของ ปิดกั้นสิทธิการทำประมงพื้นบ้าน ฐานของเศรษฐกิจชุมชนถูกแย่งยึด ประมงพื้นบ้านไร้ที่ทำการประมง เกิดวิกฤตอ่าวบ้านดอน นำไปสู่ความขัดแย้งของคน 3 กลุ่มหลัก ๆ ได้แก่ ผู้เสียสิทธิการดำรงชีวิตหรือการอยู่รอดในทรัพยากรอ่าวบ้านดอน (existence rights of the poor) ผู้มีอิทธิพลและพลังอำนาจแย่งยึดทรัพยากรเพื่อสะสมความมั่งคั่ง และผู้ควบคุม/จัดการการทรัพยากรหรือบังคับใช้กฎหมาย การจัดการทรัพยากรในกระแสหลักโดยอำนาจรัฐและกฎหมาย อาจไม่นำไปสู่ความเป็นธรรมและยั่งยืนของชุมชนในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ในพื้นที่ทะเลสาธารณะ (non-property or open access) ชุมชนประมงจึงต้องเป็นคนจัดการทรัพยากร (Self-governance) มีกฎกติกาและธรรมนูญอ่าวที่มีดุลยภาพในการใช้ทะเลร่วมกัน            This article aims to study the political ecology of the coastal resource management in Bandon Bay at Surat Thani. The purposes of study are to study the ecological changes in Bandon Bay, the ecological conflict, and the factors affecting to the conflict. This study also offers the guideline of the coastal resource management justly and sustainably. The study is a qualitative research by using the methods of dialectic, interdisciplinary political economy, and in-dept interview. The participants are selected purposively from 4 groups of representatives involved in the coastal fishing in Bandon Bay namely 1) government officers 2) local leaders 3) local fishermen, and 4) community people. The areas for collecting the data are in 3 districts namely Chaiya, Phunphin, and Kanjanadit.          The study shows that there are 3 era changes in Bandon Bay. Firstly, prior 1961 it is called Self-Sufficiency Economy which people normally depended on natural resources for living until forest concession and aquaculture came. Later in 1961-2002, there was the mangrove forest concession for the government income and also aquaculture concession area of oyster farm for solving poor problem until 1989. The total concession area was 40,656 rai covering districts of Chaiya, Thachang, Kanjanadit and Donsak. Later, in 2002-2006, according to the Ninth National Economic and Social Development Plan, the government supported sea food export. Then, there was a policy of the property change to capital named Sea Food Bank project in 2004. Accordingly, there was the trespass of outside permitted area more than 200,000 rai for doing cockles farms which gave them high economic returns. Finally, the common natural areas turned to become private property affecting to local fishery for living since they were unable to do fishing in the common natural area. Accordingly, there were 3 groups of conflict namely existence rights of the poor (local people), an influential group who wanted to keep the resources for their own accumulation, and the controllers who legally managed all resources. The natural resource management which was run by the government and law powers may not assist the community people to make the benefits of non-property or open access areas justly and sustainably. Therefore, the fishermen community should manage their own natural resources (self-governance) and share their rules for the balance of bay use.

Downloads